logo website

SME Hot Alert - “ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ต่อ SME ไทย” จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (ฝวต.)

08/01/2025 | ข่าวแนะนำ

SME Hot Alert - “ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ต่อ SME ไทย”

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (ฝวต.)



การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับลูกจ้างและประสิทธิภาพในตลาดแรงงาน โดยสะท้อนให้เห็นถึงค่าครองชีพ ความสามารถของนายจ้างและสภาพเศรษฐกิจ สำหรับปี 2568 ได้มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการจ้างงานให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่เป็น 337 – 400 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 7 – 55 บาทต่อวันทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 โดยในปี 2567 ธุรกิจ SME มีการจ้างงาน จำนวน 12.93 ล้านคน อยู่ในภาคบริการ 5.71 ล้านคน (44.20%) ภาคการค้า จำนวน 4.36 ล้านคน (33.74%) ภาคการผลิต จำนวน 2.77 ล้านคน (21.10%) และภาคธุรกิจการเกษตร จำนวน 0.09 ล้านคน (0.66%)


จากการเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำในปี 2568 เทียบกับปี 2567 พบว่าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9% แต่หากพิจารณาในพื้นที่ที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยมีทั้งหมด 7 พื้นที่ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี เฉพาะ อ.เกาะสมุย ปรับเพิ่มขึ้นถึง 15.9% ตามมาด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ที่ 14.3% จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ที่ 10.8% จ.สงขลา เฉพาะ อ.หาดใหญ่ ที่ 10.1% จ.เชียงใหม่ เฉพาะ อ.เมือง ที่ 8.6% และ จ.ภูเก็ต ที่ 8.1% โดยจำนวนแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน 7 พื้นที่คิดเป็น 12.9% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งจำนวนการจ้างงานใน 7 พื้นที่ ที่อยู่ในสถานประกอบการ SME จำนวนมาก พบว่า อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจสปา แต่หากพิจารณาในมุมมองของการจ้างงานเฉลี่ยต่อกิจการพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น 


โดยดัชนีเครื่องชี้วัดต้นทุนด้านบุคลากรในปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small) มีอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีมากที่สุดถึง 14.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) เพิ่มขึ้น 3.9% ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium) ลดลงเล็กน้อย 2.5% จากการเริ่มปรับใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน


สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการอนุญาตทำงานในประเทศไทย แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าวตลอดชีพ แรงงานต่างด้าวมาตรา 59 (ประเภททั่วไป) แรงงานต่างด้าวมาตรา 59 (ประเภทนำเข้าตาม MOU) แรงงานต่างด้าวมาตรา 62 (ประเภทส่งเสริมการลงทุน) แรงงานต่างด้าวมาตรา 63/1 (ประเภทชนกลุ่มน้อย) แรงงานต่างด้าวมาตรา 64 และแรงงานต่างด้าวมาตรา 63/2 ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากแรงงาน

ทักษะน้อยเป็นส่วนใหญ่ โดยมักเป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย

โดยแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 63/2 (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม : CLMV) ตามมติคณะนายกรัฐมนตรีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 และตามมติคณะนายกรัฐมนตรีวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีจำนวนแรงงานต่างด้าวรวม 2,392,697 ราย จากจำนวนรวมทั้งหมด 3,350,969 ราย คิดเป็น 71.4% ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ด้วยเช่นกัน


จะเห็นได้ว่าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 63/2 ส่วนใหญ่จะอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภท การผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง ขายปลีก โดยในภาคการผลิต ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการเกี่ยวกับกิจกรรมต่อเนื่องทางการเกษตร การผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป และการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนการขายส่ง ขายปลีก แรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในกิจการค้าส่ง ค้าปลีก และแผงลอยในตลาดเป็นหลัก และหากมองเป็นรายภูมิภาคจะพบว่าแรงงานต่างด้าวกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และภาคกลางเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้มักเป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับประโยชน์มากขึ้นและแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มักจะส่งเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เงินที่อยู่ในระบบเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าที่ประมาณการ นอกจากนี้นายจ้างอาจใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น อันเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ SME ไทยต่อไป


สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงต่อเศรษฐกิจ SME และเศรษฐกิจในภาพรวม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจที่ใช้แรงงานกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างรายวัน เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจการเกษตร และธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านสภาพคล่องและไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ส่งผลต่อการลดลงของกำไร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยรวมจะไม่รุนแรง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะมีผลกับแรงงานบางกลุ่มเท่านั้น และธุรกิจ SME ได้มีการปรับตัวรองรับมาระยะหนึ่งแล้ว


ด้านผลกระทบต่อการบริโภคและกำลังซื้อ การที่กลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและการบริโภคในพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งผู้ที่ไม่ได้รับการปรับค่าแรง เช่น ผู้มีรายได้ประจำหรืออาชีพอิสระไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้โดยตรง ในด้านผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าในเดือนธันวาคม 2567 จะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 1.23% และทั้งปี 2567 อยู่ที่ 0.4% ซึ่งถือยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการที่ต้นทุนแรงงานปรับเพิ่มขึ้นจึงไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปี 2568 ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.3 – 1.3% เนื่องจากกำลังซื้อโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวรวมทั้งธุรกิจ SME มีข้อจำกัดในการปรับขึ้นราคาสินค้า

ข้อเสนอแนะ/ความต้องการช่วยเหลือจาก SME โดย สสว. ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างแรงงานและแนวทางการปรับตัวของ SME หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,711 ราย จาก 6 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 18 – 30 กรกฎาคม 2567 พบว่า SME กว่า 63.7% ประเมินว่าต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการรองรับเกี่ยวกับต้นทุนอื่น ๆ ที่อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น ค่าสินค้า/วัตถุดิบ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและการขนส่ง เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนรวมของธุรกิจ เนื่องจาก SME มองว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าตามท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้นเพราะ SME จะเริ่มลดจำนวนต้นทุนในการจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ข้อมูลจากผลสำรวจพบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นปัญหาที่ SME กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันจึงต้องการให้ภาครัฐช่วยจัดหาแรงงานที่มีทักษะในอัตราค่าตอบแทนสมเหตุสมผล หรือการจัดตั้งศูนย์กลางของตลาดแรงงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ SME ในการหาแรงงาน เพราะถ้า SME หาแรงงานที่มีทักษะด้วยตนเองอาจจะต้องจ่ายอัตราค่าแรงมากกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้การเพิ่มค่าจ้างมีประสิทธิภาพ


ข่าวสารจากที่คุณอาจสนใจ

สแกนเพื่อแอดไลน์

@smeconnext

สแกนเพื่อดาวน์โหลด

แอปพลิเคชั่น